เมื่อวันที่ 12 พ.ค.63 เมื่อ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ชาวบ้าน อ.จะนะ เขียนจดหมายถึง "ปู่ประยุทธ์" ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรี และปักหลักนั่งประท้วงอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อรอคำตอบจากนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. ที่กำหนดไว้ในวันที่ 14-20 พ.ค.
จดหมายน้อยถึงปู่ประยุทธ์ อธิบายความเป็นลูกหลานชาวประมงของไครียะห์ ที่เติบโต ผูกพัน และดูแลปกป้องทะเลจะนะ จึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีดั้งเดิม กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม
เนื้อหาบางตอนของจดหมายระบุว่า "ป๊ะ (พ่อ) สอนให้หนูอนุรักษ์ทะเล สอนให้ทำบ้านปลาหรือปะการังเทียมแบบธรรมชาติ พาหนูไปนั่งเล่นริมชายหาด ฟังเสียงคลื่น เสียงธรรมชาติทุกวัน ตั้งแต่เด็กเล็กจนโต ทุกๆ ปีจะมีโลมา เต่า ขึ้นมาเล่นผิวน้ำที่ทะเลหน้าบ้านของหนู หนูรู้สึกตื่นเต้น เป็นความรู้สึกพิเศษ เวลาเห็นสัตว์ที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเล
แต่เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 มีมติ ครม.ให้เมืองจะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยพื้นที่ 3 ตำบล นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม รวมพื้นที่ทั้งหมด 16,753 ไร่ โดยไม่มีการถามไถ่คนจะนะมาก่อน
คุณปู่ประยุทธ์บอกว่าจะนำความเจริญและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หนูได้ยินข่าวว่า ศอ.บต. จะมีการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14-20 พ.ค.63 ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้ คนนอกพื้นที่ 3 ตำบลไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งเขาก็รับได้ผลกระทบเหมือนกัน โครงการระดับหมื่นล้านแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับรู้...ขอให้ยกเลิกเวทีในลักษณะเช่นนี้ที่ไม่มีความชอบธรรม ลิดรอนสิทธิของคนในชุมชน จะมีค่าอันใดเล่าหากพัฒนาเพื่อเอาผลประโยชน์จนทำลายอนาคตของลูกหลาน จะทนได้หรือคุณปู่ประยุทธ์"
ไครียะห์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมช่วงที่ปักหลักอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 มีมติ ครม.ให้จะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อยู่ดีๆ มีมติครม.ออกมาโดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย และไม่มีการไถ่ถามชาวบ้านเลย และในวันที่ 14-20 พ.ค.63 ศอ.บต.จะมาเปิดเวที ก็เลยคิดว่ามติครม.ออกไปแล้ว แต่เพิ่งมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน แบบนี้ถือว่าชอบธรรมหรือไม่
"ที่ไม่ชอบธรรมมากกว่านั้นคือ จะมีการเปิดเวทีเฉพาะในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม ซึ่งแต่ละตำบลห้ามคนนอกพื้นที่เข้าร่วม ทั้งที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นนิคมที่ใหญ่มาก คนสงขลา คนหาดใหญ่ก็ได้รับผลกระทบ แต่เขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้" ไครียะห์ อธิบายข้อสงสัยที่ค้างคาใจ
อัปเดตเมื่อ 30 ก.ค. 2563
ชายหาดม่วงงาม ตั้งอยู่ที่ ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีความยาว 7.2 กม. เป็นหาดทรายขาวที่ใช้พักผ่อนหย่อนใจ จอดเรือประมง และจัดกิจกรรมต่างๆ โดยมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาอย่างต่อเนื่อง
กำแพงกันคลื่นถูกก่อสร้างภายใต้โครงการชื่อ “โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหาดม่วงงาม หมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง”
อัปเดตเมื่อ 30 ก.ค. 2563
เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง ปัญหาและทางออกการจัดการพื้นที่สาธารณะทางทะเลอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมกันหาทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบริเวณอ่าวบ้านดอน ระหว่างกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านกับผู้ประกอบการผู้เลี้ยงหอยแครง จากนักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาสังคมภาคใต้ โดยมี ดร.ชนัญชิดา ทิพย์ญาณ ดร.เพ็ญนภา ดร.ประวีณ จุลภักดี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 นายพัฒนพงศ์ ปลื้มพัฒน์ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการมูลนิธิภาคใต้สีเขียว นายกฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ นายสมาแอ เจะมูดอ นายกสมาคมพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และที่ปรึกษาอธิบดีกรมประมง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน นักกฎหมาย นักการเมือง สื่อมวลชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่อ่าวบ้านดอน
โดยผู้ร่วมเสวนาเวทีวิชาการวิชาการ เรื่อง ปัญหาและทางออกการจัดการพื้นที่สาธารณะทางทะเลอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี มองว่า ทางออกของการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านกับผู้เลี้ยงหอยแครงอ่าวบ้านดอนนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยจะต้องบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับในการบังคับใช้กฎหมายยึดคืนพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอน เพื่อนำมากำหนดกติกาในการใช้พื้นที่ร่วมกันให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และมองว่า การแก้ปัญหาอ่าวบ้านดอนไม่สามารถที่จะใช้กฎหมายบังคับเพียงอย่างเดียวได้ จะต้องนำหลักรัฐศาสตร์และความเป็นชุมชนเข้ามาร่วมด้วย รวมไปถึงมองว่าในระดับจังหวัดไม่สามารถที่จะยุติปัญหาได้ น่าจะใช้กลไกการแก้ปัญหาในระดับชาติ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานขึ้นมาโดยนายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง และสร้างเครือข่ายอ่าวบ้านดอนจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้จบสิ้นโดยเร็ว อย่าปล่อยให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครง กับชาวประมงพื้นบ้าน