top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนThai Sea Watch Association

สนับสนุน “กฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่งสตูล หยุดหลุมดำทำลายทรัพยากรชายฝั่ง

สนับสนุน “กฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่งสตูล หยุดหลุมดำทำลายทรัพยากรชายฝั่ง เพิ่มพื้นที่อำนาจให้จังหวัด ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง

ต่อกรณีที่ล่าสุด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามในกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง ๒๔ ฉบับทั้งประเทศ รวมถึงจังหวัดสตูลเป็นหนึ่งในนั้นด้วย หลังจากได้รับความเห็นชอบในหลักการจาก คณะรัฐมนตรี หลังจากเสนอเข้าคิว คณะรัฐมนตรี ไว้ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๔ และได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี แล้วประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา

อย่างที่หลายท่านทราบก่อนหน้านี้ ว่าสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทย และภาคีพันธมิตร พยายามเรียกร้องให้ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศกำหนด ชนิดและขนาดพันธ์สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ไม่ควรทำการประมง โดยอาจกำหนดเป็นสัดส่วนเผื่อชาวประมงอาจจับมาโดยบังเอิญได้ เช่น ชาวประมงออกไปจับปลา รอบนึงห้ามจับติด ปลาทูตัวอ่อนขนาดเล็กๆ มาเกิน ๑๐% ของผลการจับ เป็นต้น



ซึ่งแม้ว่า กรมประมงและกระทรวงเกษตรสหกรณ์ จะไม่ปฏิเสธในหลักการว่า ทะเลไทยควรมีมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เพราะจะทำลายฐานเศรษฐกิจมาก และในทางวิชาการก็ให้การยอมรับแล้ว อีกทั้งแผนพัฒนาการประมงไทย ก็ระบุปัญหา “สัตว์น้ำวัยอ่อน” ไว้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ แต่ ทางรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังยืนยันเห็นว่า อยากใช้มาตรการกำหนดเขตฤดูวางไข่ และการกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง เพียงพอที่จะป้องกันปัญหาได้

ย้อนกลับไปเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๖๒-๒๕๖๔ ตอนนายมีศักดิ์ ภักดีคง เป็นอธิบดีกรมประมง ขอความเห็นของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล ประชุมหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงเขตทะเลชายฝั่งของจังหวัดของตน รวมทั้งจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นกึ่งๆประชามติจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อนนำมาถกหาข้อสรุปและนำเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบหลักการ



ในกระบวนการหารือครั้งนั้นของจังหวัดสตูล เกิดดราม่ามากมายเกิดขึ้น ในทัศนะผม เกิดจากความรู้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่ถ่องแท้แทบทั้งสิ้น จนจังหวัดสตูลโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้น ต้องสั่งให้รับฟังความคิดเห็นถึงสองครั้ง จากครั้งแรกจัดสองเวทีแล้วสรุป เข้าคณะกรรมการแล้วเกิดการรวบรัดไม่ให้กรรมการประมงอภิปรายโดยยกเหตุผลว่า “ผ่านๆไปก่อน” จนต้องจัดรับฟังความคิดเห็นใหม่เพิ่มอีก ใน ๔ อำเภอ ชายฝั่งทะเล ผมจำได้ว่าได้รับเชิญไปร่วมให้ชิ้แจงข้อมูลร่วมกับผู้ชี้แจงท่านอื่นๆจากหน่วยงานต่างๆ แล้วให้ผู้เข้าร่วมอภิปรายกันเอง และหลังการอภิปรายที่ประชุมได้โหวตให้ ปรับปรุงเขตทะเลชายฝั่งสตูล เสียใหม่ โดยปิดช่องที่เป็นเหมือน “หลุมดำ”หรือที่เคยถูกกำหนดให้เป็นเขตทะเลนอกชายฝั่ง แต่กลับอยู่ในบริเวณแนวชายฝั่ง เสีย แล้วค่อยมาบริหารจัดการเครื่องมือการทำประมงในเขตชายฝั่งของประมงขนาดเล็กเพิ่มเติม ในอนาคต

แม้จะเขียนและพูดไว้หลายครั้ง และมีอยู่ในกฎหมายชัดเจนเพียงใดก็ตาม หากท่านที่ไม่เคยศึกษามาก่อนจะเข้าใจผิดได้ง่ายๆ จึงขอชวนมาทำความรู้จัก “เขตทะเลชายฝั่ง” ให้ถ่องแท้เสียก่อนอีกครั้ง และอีกครั้ง “เขตทะเลชายฝั่ง” มันคืออะไรกันแน่

“เขตทะเลชายฝั่ง” โดยหลักการของกฎหมายมีไว้ “เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ” เป็นหลัก โดยเขียนไว้ในส่วนของคำนิยามใน พระราชกำหนดการประมง ๒๕๕๘ โดยกำหนดให้ พิจารณาจาก ๓ ไมล์ทะเลเป็นเส้นฐาน จะเพิ่มหรือลดให้กำหนดเป็นกฎกระทรวง (คือก่อนรัฐมนตรีจะประกาศได้ ต้องขอความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรีก่อน)



จะเห็นว่า ใช้คำว่า “เพื่อบริหารจัดการสัตว์น้ำ” ไม่ได้ใช้คำว่า “เพื่อบริหารจัดการการทำประมง” หรือ “เพื่อบริหารจัดการผลประโยชน์ของชาวประมง” นัยยะนี้ก็เพราะโดยหลักนั้น ชายฝั่งทะเลไทยนั้นมีฐานะเป็นแหล่งเพาะฟักขยายพันธ์สัตว์น้ำ เพื่อเป็นแหล่งอาหารของคนทั้งชาติ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องกำกับควบคุมพื้นที่ให้อยู่ในความสมบูรณ์ และมีหลักประกันว่า คนรุ่นเราจะไม่ทำลายมันเสียให้หมด จะต้องรักษาเหลือคงอยู่ถึงลูกหลานด้วย

และให้ “เขตทะเลชายฝั่ง” ที่ว่านี้เป็นเสมือน “เขตอำนาจในการบริหารจัดการของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด” นั้นๆ โดยกฎหมายได้ระบุให้คณะกรรมการฯในจังหวัด มีอำนาจพิจารณากำหนดเงื่อนไข วิธีการทำประมง พื้นที่การทำประมง ฯลฯ ได้เฉพาะ ภายในเขตทะเลชายฝั่งและเขตประมงน้ำจืด (แหล่งน้ำบนแผ่นดิน) ส่วน เขตทะเลนอกชายฝั่งนั้น อำนาจในการกำหนดการทำประมงเป็นของรัฐบาลกลาง (รัฐมนตรีว่าการ)

และกฎหมายประมงได้มีข้อกำหนดกลางๆ ไว้ประการหนึ่ง คือ ห้ามทำการประมงพาณิชย์ในเขตทะเลชายฝั่ง โดยมีเกณฑ์ว่า การประมงที่ใช้เรือตั้งแต่สิบตันกรอสขึ้นไป หรือ แม้จะใช้เรือเล็กกว่าสิบตันกรอส แต่หากใช้เครื่องมือทำประมง หรือเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง ให้เป็นประมงพาณิชย์ หรือจะกล่าวให้ชัดๆ ได้ว่า “รัฐบาลกลางเป็นผู้ออกกติกากำกับการทำประมงพาณิชย์” ส่วน “จังหวัดท้องถิ่นเป็นผู้ออกกติกากำกับการทำประมงพื้นบ้าน”

ขออธิบายเหตุว่า ทำไมต้องห้ามประมงพาณิชย์ทำในเขตทะเลชายฝั่ง ก็เพราะต้องการให้เกิดการ รักษาพื้นที่นิเวศชายฝั่งไว้ ไม่ให้ทำลายพันธ์สัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งมากเกินไปนั้นเอง

กลับมาที่ การกำหนดเขตทะเลชายฝั่งจังหวัดสตูล หากดูตามภาพเขตทะเลชายฝั่งฉบันก่อนหน้า จะเห็นชัดว่า ไม่สะท้อนเจตนาของการบริหารจัดการสัตว์น้ำ มีการกำหนด เขตทะเลชายฝั่ง แบบ “เปิดหลุมดำ” กล่าวคือ ให้ ทะเลนอกชายฝั่ง อยู่ในแนวชายฝั่ง และ เขตทะเลชายฝั่ง อยู่ ด้านนอก เสีย โดยปริยาย และมีผลทำให้ การประมงแบบพาณิชย์ทำประมงได้ ทำให้ผู้กำหนดกติกา บริหารจัดการไม่ได้ เมื่อ อำนาจของรัฐมนตรี อยู่ตรงกลางหลุมดำ แต่อำนาจของจังหวัด อยู่รอบๆ รวมทั้งเกิดความขัดแย้ง รุกล้ำได้ง่าย ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้เดิม



ผมเคยเขียนไว้หลายโอกาสแล้วว่า เมื่อเป็น “เขตทะเลนอกชายฝั่ง" จะลิงก์กับการตรวจสอบด้วยระบบ VMS ที่ติดตั้งบนเรือพาณิชย์ และการตรวจการณ์ของเจ้าหน้าที่ เมื่อมาเจอหลุมดำแบบเขตทะเลที่กำหนดฉบับเดิมของจังหวัดสตูล ย่อมทำงานยากไปด้วย หากดูในแผนที่ฉบับเดิม จะเห็นความแตกต่าง เส้นแนวเขตของจังหวัดตรังเทียบกับเส้นสตูล จะพบว่าของสตูล ขีดหลบเข้าข้างชายฝั่งให้มากที่สุด และเส้นแนวจะ ขยุกขยิก ทำให้บังคับใช้ยากในทางปฏิบัติ เอื้อให้กองเรือพาณิชย์ ลัดเลาะเข้าชายฝั่ง ได้ง่าย ส่วนทะเล อื่นๆ (พื้นขาว) ที่เหลือ เป็นเขตทะเลนอกชายฝั่ง เป็นพื้นที่ที่กองเรือประมงพาณิชย์ทำได้โดยปกติอยู่แล้ว

หลังการรับฟังความคิดเห็น และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสตูล รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง4เวที /4อำเภอชายฝั่งทะเล ของจังหวัดสตูล ในเขตอำเภอเมือง ทั้งประมงพาณิชย์พื้นบ้าน เห็นด้วยกับการปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยให้ขยายนิเวศด้านในเป็นเขตทะเลชายฝั่ง เวทีของ อ.ท่าแพ ซึ่งทั้งอำเภอเป็นประมงพื้นบ้านล้วนๆ เห็นด้วยให้กำหนดแนวเขตใหม่ให้ขยายเขตทะเลชายฝั่งปิดหลุมดำที่ว่านั้น เวทีของ อ.ทุ่งหว้า ซึ่งทั้งอำเภอ มีทำประมงพื้นบ้านล้วนๆเช่นกัน เห็นด้วยกับเขตทะเลชายฝั่งที่ปรับปรุงขยายให้ครอบคลุมนิเวศน์ชายฝั่ง มีเฉพาะ เวที อ.ละงู เท่านั้น ที่ ฝ่ายประมงพื้นบ้านเห็นด้วยกับเขตทะเลชายฝั่งที่ขยายคลุมนิเวศชายฝั่ง ส่วนประมงพาณิชย์ ประเภทเรือปั่นไฟจับปลากะตัก (มีทั้งจังหวัด60ลำ) ไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงเขตทะเลชายฝั่ง

หลังนั่งฟังทุกเวที ผมเห็นด้วยตาเปล่า ข้อเท็จจริงชัดแจ้ง ว่า ประชาชนที่ไปรับฟังมา เขาเห็นด้วยให้ปรับปรุงมติกรรมการประมงจังหวัด เดิม โดยเห็นชอบตามร่างกำหนดเขตใหม่ที่ครอบคลุมนิเวศทะเลชายฝั่งเพื่อการบริหารสัตว์น้ำให้สมดุล และมีข้อเสนอแนะว่า ทางออกของผู้ได้รับผลกระทบ คือกลุ่มปั่นไฟจับปลากะตัก ซึ่งเป็นการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น คือ ยังสามารถทำประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่งได้ เมื่อสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งเพาะฟักสมบูรณ์ ธรรมชาติของสัตว์น้ำจะว่ายวนออกไปทั่วทะเลให้ชาวประมงได้จับ และปลาว่ายน้ำได้ ทะเลไม่มีเขื่อนกั้น



มติที่ประชุมคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เห็นชอบกับการออกกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่งสตูล ใหม่ โดยปิดพื้นที่หลุมดำช่องว่างที่ว่านั้นเสีย ในครั้งนั้น ผู้ที่ยังคัดค้าน ก็คือกลุ่มจากอำเภอละงู ที่ยังอยากจะทำตามที่ตนเคยทำมาก่อน ตอนนั้น ผมเคยเขียนบันทึกไว้ว่า “หลังจากนี้เหลือแต่นั่งวัดใจ ครม.ประยุทธ ว่า จะเห็นแก่ความสมดุลของทรัพยากรและประโยชน์ของชุมชนที่มีเรือประมงพื้นบ้านอยู่ 8000กว่าลำ หรือ จะเห็นแก่ประโยชน์ของ กองเรือในเครือของพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยการแอบไปเปลี่ยนมติปรับปรุงเขตกันเสียเอง”

ผลปรากฏว่า วันนี้ กฏกระทรวงถูกประกาศออกมาตามมติคณะกรรมการฯ แม้หลายเรื่องที่ผมไม่เห็นด้วยกับ คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังขัดใจที่ คุณเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ที่ยังไม่เสนอประกาศกำหนดขนาดสัตว์น้ำตัวอ่อนเสียที

แต่เอาละ เรื่องเขตทะเลชายฝั่ง นี้ ผมพูดประสาเด็กบ้านนอกถือว่า ทั้งสองท่านนักเลงพอ... ก็ขอบคุณและสนับสนุนในเรื่องนี้ ครับ แม้จะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม

*หมายเหตุ:เรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 8445 ลำ ข้อมูลจากสำรวจของเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง จ.สตูล เมื่อ พ.ศ.2559 ** หมายเหตุสอง ภาพผมตอนโดนกล่าวหาเป็นคดีเพราะพูดเรื่องเขตทะเลชายฝั่งสตูลเมือหลายปีก่อน และอัยการสูงสุดมีคำสั้งไม่ฟ้อง ยุติแล้ว แต่ยังจำไม่ลืมหรอก



ดู 41 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

ประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่ร่วมงาน

ที่ ส.ร.ท 001/2566 วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2566 เรื่อง ประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่ร่วมงาน รับสมัครเจ้าหน้าที่งานโครงการ Asia Pacific Farmers’ Programme (APFP) ,Support to Farmers Organizations fo

bottom of page